ทั่วโลกจับตามองหลังเกิดเหตุระเบิดในกรุงเบรุตของเลบานอน ว่าเหตุใดจึงปล่อยให้แอมโมเนียมไนเตรท 2,750 ตันเก็บไว้อย่างไม่เหมาะสม จนนำไปสู่โศกนาฏกรรม ก่อนเกิดระเบิดไม่กี่วัน รมต.ต่างประเทศเลบานอนประกาศลาออกจากตำแหน่ง และเตือนว่าเลบานอนกำลังจะกลายเป็นรัฐล้มเหลว
วันนี้ (6 ส.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า "เลบานอน" กำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุด นับตั้งแต่สงครามกลางเมืองสิ้นสุดลงเมื่อ 30 ปีก่อน ที่ผ่านมาการเมืองในประเทศเต็มไปด้วยการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แสวงหาอำนาจและประโยชน์ให้กับพรรคพวกของตัวเอง
ปลายปี 2562 ธนาคารโลกคาดการณ์เศรษฐกิจของเลบานอนว่าหากสถานการณ์ในประเทศยังเต็มไปด้วยความวุ่นวาย รัฐบาลไม่หาทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ชาวเลบานอนครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศจะเผชิญกับความยากจนและอัตราการว่างงานจะสูงถึงร้อยละ 25 ซึ่งนี่คือการคาดการณ์ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 และก่อนที่จะเกิดระเบิดในกรุงเบรุต ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้อาจจะเลวร้ายกว่าตัวเลขคาดการณ์เอาไว้มาก
ปัจจุบันชาวเลบานอนกำลังเผชิญกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ ข้อมูลชี้ชัดว่าเมื่อเดือน พ.ค.2563 ราคาอาหารและเสื้อผ้าในเลบานอนเพิ่มสูงถึงร้อยละ 190 และ 172 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562
นอกจากนี้เมื่อเดือน ต.ค.2563 เลบานอนยังเผชิญปัญหาขาดแคลนสกุลเงินตราต่างประเทศ ทำให้เงินปอนด์เลบานอนอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ โดยอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเป็นทางการอยู่ที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ 1,500 ปอนด์เลบานอน แต่ในตลาดมืดพบว่าอัตราแลกเปลี่ยนสูงถึง 8,200 ปอนด์
ในขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ของเลบานอน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาลดลงอย่างมาก โดยการคาดการณ์ของปี 2563 ติดลบอยู่ที่ร้อยละ 5 แต่นี่คือตัวเลขคาดการณ์ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 และเหตุระเบิด ดังนั้นตัวเลขจริงๆ อาจจะเลวร้ายกว่าที่ประเมินไว้เช่นกัน
ทำไม..เลบานอนถึงเข้าใกล้ภาวะรัฐล้มเหลว
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า เป็นเพราะการเมืองที่เต็มไปด้วยการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ซึ่งแต่ละกลุ่มต่างมุ่งดูแลผลประโยชน์ของตัวเอง การเมืองของเลบานอนแบ่งแยกกันทั้งฝ่ายประธานาธิบดี ฝ่ายประธานสภาผู้แทนราษฏร และฝ่ายของนายกรัฐมนตรี โดยแยกไปตามกลุ่มศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ คือ ศาสนาคริสต์นิกายมาโรไนต์ ศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์และสุหนี่ ซึ่งการแบ่งอำนาจเป็นไปตามข้อตกลงเมื่อปี 2486 หรือเมื่อ 77 ปีก่อน นอกจากนี้ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร 128 ตำแหน่ง ยังแบ่งสรรอย่างเท่าเทียมระหว่างชาวคริสต์กับมุสลิมอีกด้วย
ความหลากหลายทำให้เลบานอนถูกต่างชาติใช้อิทธิพลชักจูงได้ง่าย อย่างเช่นอิหร่านที่สนับสนุนกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ในเลบานอน ซึ่งถูกมองว่าเป็นกลุ่มการเมืองและทหารที่มีอิทธิพลมากที่สุดในประเทศ หลังสงครามกลางเมืองที่กินเวลานานถึง 15 ปีสิ้นสุดลงในปี 2533 หรือ 30 ปีก่อน นักการเมืองแต่ละฝ่ายต่างก็รักษาอำนาจและผลประโยชน์ของตัวเองผ่านระบบอุปถัมภ์
เมื่อเดือน ต.ค.2562 เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ในเลบานอน เรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจ จนทำให้ ซาอัด อัล-ฮารีรี นายกรัฐมนตรี ต้องลาออก หลังต้านแรงกดดันไม่ไหวและลี้ภัยไปต่างประเทศ แต่ผู้นำคนใหม่ที่ขึ้นมาทำหน้าที่แทนก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้
หากมองไปในอนาคตนับจากนี้ หนทางข้างหน้าของเลบานอนยังดูมืดมน หาทางออกไม่เจอ ตราบใดที่การเมืองในประเทศเป็นปัญหาหลัก แม้ว่าขณะนี้นี้เลบานอนจะได้รับเงินกู้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ มาแล้ว 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3.1 แสนล้านบาท รวมถึงความช่วยเหลือจากนานาชาติที่กำลังทยอยเข้ามา แต่สิ่งที่ชาวเลบานอนกังวลคือ เงินและความช่วยเหลือเหล่านี้จะตกถึงมือประชาชนที่เดือดร้อนจริงหรือไม่ หรือจะตกไปอยู่กับฝ่ายการเมืองที่แสวงหาผลประโยชน์จากความเดือดร้อนของประชาชน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ระเบิดกลางเมืองหลวงเลบานอน เสียชีวิต 50 คน เจ็บ 2,700 คน
แอมโมเนียมไนเตรท 2.7 พันตัน ปมระเบิดครั้งใหญ่กรุงเบรุต
ระเบิดเบรุต เสียชีวิต 135 เจ็บกว่า 4,000 คน เร่งหาผู้สูญหาย
ก.แรงงาน สั่งทูตดูแลแรงงานไทยในเลบานอน ยันไม่พบคนบาดเจ็บ
August 06, 2020 at 08:21PM
https://ift.tt/3gCE4au
เหตุระเบิด "เลบานอน" ตัวเร่งนำประเทศสู่รัฐล้มเหลว - ข่าวไทยพีบีเอส
https://ift.tt/3e2ph87
Home To Blog
No comments:
Post a Comment