ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ก.ย. นายวิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) เปิดเผยย้ำในเรื่องนี้ว่า หากในไตรมาส 4 (ต.ค.-ธ.ค.) ของปีนี้ ยังไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา ทั้งอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ตั้งแต่โรงแรม บริษัททัวร์ ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก จะมีคนตกงานจากการถูกเลิกจ้าง 2.5 ล้านคน จากที่มีในระบบทั้งหมด 4 ล้านคน เศรษฐกิจของเราไปไม่รอดแน่ๆ จึงอยากให้รัฐบาล ตัดสินใจเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาโดยด่วน โดยเฉพาะกับประเทศที่มีความปลอดภัยสูง ปลอดการติดเชื้อโควิด-19 เป็นเวลา 60 วันขึ้นไป เช่น บางเมืองในจีน ทั้งกว่างโจว ฉางชา ฉงชิ่ง คุนหมิง รวมทั้งไต้หวัน และเมืองโฮจิมินห์ของเวียดนาม นำร่องในพื้นที่ภูเก็ต สมุย พัทยา เชียงใหม่
จี้เปิดรับ นทท.ต่างชาติด่วน
“การเลิกจ้างงาน 2.5 ล้านคน สอดคล้องกับรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป 1.5 ล้านล้านบาทในปีนี้ และจะหายไปอีก 1.5 ล้านล้านบาทในปี 2564 เพราะกว่ารัฐบาลจะเคาะให้ต่างชาติเข้ามาเที่ยวได้ เอกชนต้องไปประสานทั้งเรื่องการขาย การจัดหาเที่ยวบิน และโรงแรม อีก 2-3 เดือน อย่างไร ก็ตาม ขอให้รัฐบาลรีบตัดสินใจก่อน ไม่เช่นนั้นเอกชนก็ทำงานไม่ได้ ถ้าไตรมาส 4 ปีนี้ยังไม่เริ่ม ปีหน้าจะยิ่งเสียโอกาส เพราะแม้ว่าปีหน้าจะมีวัคซีน แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติก็คงไม่ถึง 10 ล้านคน ส่วนการเริ่มให้ต่างชาติเข้ามาจะเป็นกี่คน ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจำกัดปริมาณก็ได้ แต่ขอให้เริ่ม” นายกแอตต้ากล่าว
ตั้งเงื่อนไขขอไม่กักตัว 14 วัน
นายวิชิต กล่าวต่อว่า ข้อเสนอให้เปิดต่างชาติเข้ามาขอไม่ต้องมีการกักตัว 14 วัน เพราะนักท่องเที่ยวจากเอเชียจะอยู่ไม่เกิน 7 วัน แต่จะอยู่ภายใต้มาตรการทางด้านสาธารณสุขมีการตรวจหาเชื้อโควิดก่อนเดินทาง 72 ชั่วโมงและตรวจซ้ำในไทยอีกครั้ง จากนั้น จะเที่ยวโดยจำกัดพื้นที่โดยมีบริษัททัวร์ดูแลอย่างเคร่งครัด มั่นใจกลุ่มปลอดภัยสูงจะไม่สร้างปัญหาให้ไทย เห็นได้จากคนที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ ไม่มีผู้ติดเชื้อจากจีน ไต้หวัน และเวียดนามเลย
ขอปรับเกณฑ์ “เราเที่ยวด้วยกัน”
ด้านนายธนพร ชีวรัตนพร นายกสมาคมธุรกิจ ท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลปรับเงื่อนไขโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ให้เที่ยวผ่านบริษัททัวร์ได้ โดยบริษัททัวร์จะเป็นผู้จัดทำแพ็กเกจขึ้นมา และให้ภาครัฐสนับสนุน 40 เปอร์เซ็นต์ของราคาเต็มแต่ไม่เกิน 8,000 บาทต่อแพ็กเกจ เท่ากับเป็นแพ็กเกจที่ราคา 20,000 บาท ประชาชนจ่ายเอง 60 เปอร์เซ็นต์ หรือสูงสุด 12,000 บาท ซึ่งถ้าเป็นราคาแบบนี้จะเที่ยวแบบหรูหรา 5 ดาวและโดยสารเครื่องบินได้เลย อีกทั้งช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งระบบ ข้อเรียกร้องดังกล่าวไม่เกินเลย เพราะดูแล้ววงเงินจากโครงการเราเที่ยวด้วยกันจะเหลือจำนวนมาก และคำนวณเทียบเคียงว่า คนที่ใช้สิทธิ์ในโครงการมักจะใช้ห้องพักราคา 2,000 บาท ที่ประชาชนจ่ายเอง 1,200 บาทและรัฐจ่ายให้ 800 บาท และรัฐให้สิทธิ์ 10 คืน เท่ากับรัฐจ่ายให้ 8,000 บาท ซึ่งไม่ได้คิดไปที่ฐานสูงสุดที่รัฐจ่ายให้ได้ถึงวันละ 3,000 บาท ถ้า 10 คืน เท่ากับ 30,000 บาท
คนพิการตกงานนับหมื่น
ขณะเดียวกัน ที่กระทรวงแรงงาน นายชีวานนท์ พรรัตน์ธนิกกุล นายกสมาคมสหพันธ์แรงงานคนพิการไทย และคณะ เข้าหารือสถานการณ์เลิกจ้างจากผลกระทบโควิด-19 โดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน มอบหมายให้นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการ รมว.แรงงาน เป็นตัวแทนรับฟังปัญหา นายชีวานนท์กล่าวว่า กฎหมายกำหนดให้สถานประกอบการต้องจ้างงานคนงานพิการ 1 คน ต่อลูกจ้างปกติ 100 คน แต่พิษโควิด-19 ทำให้สถานประกอบการต้องลดจำนวนพนักงานลง ส่งผลกระทบไปถึงอัตราส่วนคนพิการลดลงไปด้วย คาดว่าโควิดทำให้คนพิการตกงานประมาณ 1 หมื่นคน จึงขอให้ รมว.แรงงาน ซึ่งมีนโยบายส่งเสริมการจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ กำลังจะมีการจัดงานจ๊อบเอ็กซ์โปรวมตำแหน่งงานว่าง 1 ล้านตำแหน่งช่วงปลายเดือน ก.ย. ควรจะต้องมีตำแหน่งงานสำหรับคนพิการด้วย โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐต้องจ้างงานคนพิการมากขึ้น พร้อมทั้งเสนอโครงการ 1 ตำบล 1 คนพิการ เพื่อเป็นโครงการจ้างคนพิการนำร่องใน 9,600 ตำบลทั่วประเทศ จะทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นเกือบ 1 หมื่นอัตรา
รบ.โต้นายก รร.ใช้ข้อมูลเก่า
อย่างไรก็ตาม นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวที่ทำเนียบรัฐบาลกรณีนางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย(ทีเอชเอ)ระบุว่า ธุรกิจโรงแรมเลิกจ้างพนักงานกว่าล้านคนได้สอบถามบริษัทที่ทำวิจัยภายหลังจากที่นายกสมาคมใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงทราบว่าเป็นตัวเลขในช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาถือว่าเป็นข้อมูลเก่า บริษัทที่ทำวิจัยยอมรับว่า หากนำข้อมูลมาใช้ในปัจจุบันอาจทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนและผิดพลาดได้ เนื่องจากวันที่ทำวิจัยไม่ได้มีมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทั้งที่จากเดือน เม.ย.มาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 6 เดือน ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจมากมาย รวมทั้งมาตรการในอนาคตที่รัฐบาลจะช่วยเหลืออีกมาก โดยเฉพาะการจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ 2.6 แสนคน รัฐจะช่วยผู้ประกอบการจ่ายเงินเดือน 50 เปอร์เซ็นต์ เชื่อว่าจะเกิดการจ้างงานเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน
พบ 2 ผู้ติดเชื้อใหม่มาจากนอก
สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ในไทย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์และการวิจัยและพัฒนา สำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รายงานข้อมูลเมื่อวันที่ 14 ก.ย. ว่า ไทยพบผู้ป่วยรายใหม่ 2 ราย เป็นคนไทยทั้งคู่ อยู่ในกลุ่มผู้ที่กลับจากต่างประเทศและเข้าอยู่ในสถานที่กักตัวที่รัฐจัดใหม่ในจังหวัดชลบุรี รายแรกเป็นชายไทย อายุ 23 ปี อาชีพรับจ้างสอนหนังสือ เดินทางจากสหรัฐอเมริกา มาถึงไทยเมื่อวันที่ 5 ก.ย. ตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ 12 ก.ย. รายที่สอง นักศึกษาหญิงไทย อายุ 29 ปี เดินทางมาจากกาตาร์ ถึงไทยเมื่อวันที่ 7 ก.ย. ตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ 11 ก.ย. ภาพรวมผู้ติดเชื้อสะสม 3,475 ราย ใน 68 จังหวัด รักษาหายป่วยแล้ว 3,132 คน ไม่มีผู้ป่วยหายกลับบ้านเพิ่มและไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ยอดคงที่ 58 คน
อาเซียนระบาดแรงไม่ลด
ส่วนสถานการณ์ในประเทศแถบอาเซียน ประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย กรมควบคุมโรคระบุว่า ยังคงมีผู้ติดเชื้อรายใหม่กว่า 3 พันคน คือ 3,353 คน และ 3,636 คน ตามลำดับ โดยยอดรวมผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 261,216 คน และ 218,382 คน ตามลำดับ มีผู้เสียชีวิตเพิ่มคือ 79 คน และ 73 คน ขณะที่เมียนมายอดผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่ง 337 คน ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 2,932 คน เสียชีวิตเพิ่ม 4 คน รวมยอดสะสม 24 คน สิงคโปร์ติดเชื้อเพิ่ม 49 คน ทำให้มียอดติดเชื้อสะสม 57,406 คน มาเลเซีย ติดเชื้อเพิ่ม 47 คน ยอดติดเชื้อสะสม 9,915 คน เวียดนามพบผู้ติดเพิ่มอีก 3 คน ยอดติดเชื้อรวม 1,063 คน กัมพูชาติดเชื้อเพิ่ม 1 คน ยอดติดเชื้อรวม 275 คน ส่วนบรูไนและลาวไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มและไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม
รอผลกลุ่มเสี่ยงเคสนักบอล
นอกจากนี้ กรมควบคุมโรครายงานความคืบหน้า กรณีนักฟุตบอลไทยลีก ชาวอุซเบกิสถาน อายุ 29 ปีตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อโควิด-19 มีผลดังนี้ 1.สโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด มีผู้สัมผัส รวม 47 คน เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทุกราย ทั้งหมดให้ผลเป็นลบ 2.สถานที่อื่นๆในจังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้สัมผัส รวม 286 คน เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 27 คน อยู่ระหว่างรอผล การตรวจจะครบการกักกันในวันที่ 24 ก.ย. และเป็น ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 259 คน อยู่ระหว่างรอผลการตรวจ 3.สโมสรราชบุรีมิตรผล มีผู้สัมผัส รวม 44 คน เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 11 คน ครบการกักกันในวันที่ 13 ก.ย. และเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 33 คน ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ 43 คน ทั้งหมดให้ผลเป็นลบ ส่วนอีก 1 คน เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ ไม่ได้ลงเตะนัดอุ่นเครื่อง ผลตรวจเมื่อวันที่ 9 ก.ย.เป็นลบ 4.สโมสรขอนแก่นยูไนเต็ด มีผู้สัมผัส รวม 51 คน เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 15 คน จะครบการกักกันในวันที่19 ก.ย.นี้ และเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 36 คน ทั้งหมดให้ผลเป็นลบ 5.ผู้โดยสารเครื่องบินเดียวกัน มีผู้สัมผัส รวม 13 คน เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำทุกราย ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ 6 คน ทั้งหมดให้ผลเป็นลบ รวมผู้สัมผัสทุกสถานที่ 441 คน แบ่งเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 100 คน ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 341 คน ผลตรวจเป็นลบ 147 คน รอผลการตรวจ 286 คน
ยืนยันนักเตะปลอดโควิด
อีกด้านหนึ่ง นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า การตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ครั้งที่ 2 ของนักฟุตบอลและทีมงานของสโมสรฟุตบอลขอนแก่น ยูไนเต็ด ผลการตรวจยืนยันไม่พบผู้ติดเชื้อ ขณะนี้นักฟุตบอลและทีมงานรวมทั้งสิ้น 51 คน อยู่ในช่วงของการกักตัวในพื้นที่ที่ปลอดภัย โดยเฉพาะกับกลุ่มเสี่ยงที่สุดคือนักฟุตบอล 15 คน เพื่อความมั่นใจและสบายใจของทุกฝ่าย ทั้งนี้ ขอยืนยัน จ.ขอนแก่น การ์ดไม่ตก มีการบังคับใช้ทุกมาตรการตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุข เมื่อพบเหตุการณ์เกิดขึ้นคณะทำงานได้เข้าพื้นที่ตามแผนเผชิญเหตุทั้งหมดทันที ขณะนี้อยู่ในการควบคุมและติดตามของเจ้าหน้าที่อย่างเข้มงวด
ยันสำรองเวชภัณฑ์เพียงพอ
วันเดียวกัน ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงข่าวความพร้อมด้านทรัพยากรทางการแพทย์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อรับมือโรคโควิด-19 ว่า กระทรวงได้เตรียมพร้อมอุปกรณ์ต่างๆ อย่างเพียงพอ หากเกิดการระบาดขึ้นก็พร้อมส่งอุปกรณ์ต่างๆกระจายไปยังโรงพยาบาลต่างๆได้ โดยเฉพาะโรงพยาบาลตามจังหวัดแนวชายแดน โดยในส่วนของหน้ากากอนามัย มีสำรองทั้งประเทศ 4.3 ล้านชิ้น กระจายให้โรงพยาบาลต่างๆสำรองไว้ใช้ได้ 3 เดือน ซึ่งทำให้เพียงพอต่อการใช้ในแต่ละวัน ส่วนชุดป้องกันตัวส่วนบุคคลหรือชุด PPE มีสำรองทั่วประเทศ 1.4 ล้านชุด โดยส่วนกลางสำรองไว้ 6 แสนชุด
อาจมีเชื้อหลงเหลือแต่รับมือได้
ด้าน นพ.วิฑูรย์ อนันกุล ผอ.กองสาธารณสุขฉุกเฉิน กล่าวว่ากระทรวงสาธารณสุขพร้อมให้การสนับสนุนผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถเดินหน้าต่อ โดยขอให้ประชาชนมั่นใจว่ากระทรวงเตรียมการบริหารจัดการรองรับนักท่องเที่ยวและบุคลากรจากต่างประเทศ โดยจะมีการติดตามข้อมูลผู้ป่วย อุปกรณ์ต่างๆทางการแพทย์ที่รองรับการรักษาแบบวันต่อวัน ขอให้ประชาชนยอมรับว่าอาจต้องมีผู้ป่วยส่วนหนึ่งเกิดขึ้นในประเทศ ซึ่งขอให้มั่นใจว่า สธ. สามารถดูแลผู้ป่วยได้ และร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในการพัฒนาสถานกักกันแต่ละรูปแบบ เพื่อตอบโจทย์การนำคนเข้าจากประเทศ และให้ประชาชนในประเทศมีความมั่นใจว่าจะไม่ติดโรคจากคนที่มาจากต่างประเทศ อย่าง ไรก็ตาม เราเชื่อว่ายังมีเชื้อหลงเหลืออยู่ในประเทศ ซึ่งต้องค้นหากันต่อไป ดังนั้นกระทรวงสั่งการทุกจังหวัดตั้งสถานที่กักกันทางเลือกอย่างน้อย 1 แห่ง โดยโรงแรมจับคู่ รพ.ภาครัฐหรือเอกชน และมีการค้นหาเชิงลึกอย่างสม่ำเสมอ ส่วนศักยภาพในการรองรับผู้ป่วยหากมีการระบาดระลอกสอง เราสามารถรองรับผู้ป่วยในภาพรวม 1-2 หมื่นคนทั้งใน กทม. และต่างจังหวัด
ดีอีเอสเปิดเเอปตามคนต่างแดน
ส่วนที่รัฐสภา เมื่อช่วงบ่ายวันเดียวกัน นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) มาชี้แจงเกี่ยวกับความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลในระบบปฏิบัติการไทยชนะ ต่อที่ประชุมวุฒิสภา ที่มีนายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม ว่า จนถึงวันนี้มีผู้เข้าใช้ระบบปฏิบัติการไทยชนะทั้งสิ้น 44 ล้านคน และมีผู้ประกอบการลงทะเบียนทั้งสิ้น 2.8 แสนแห่ง การเก็บข้อมูลดังกล่าวเดิมเก็บไว้ 60 วัน แต่ล่าสุดขอขยายเวลาการเก็บข้อมูลไว้ถึง 90 วัน เพื่อให้ติดตามตรวจสอบได้อย่างใกล้ชิด และเมื่อครบกำหนดเวลา 90 วันจะลบข้อมูลทั้งหมด ทั้งหมายเลขโทรศัพท์และสถานที่เช็กอิน นอกจากแอปพลิเคชันไทยชนะแล้ว รัฐบาลเตรียมพัฒนาแอปพลิเคชัน “หมอชนะ”เพื่อติดตามบุคคลที่เดินทางเข้าประเทศอย่างละเอียดด้วย
1 วันติดเชื้อทั่วโลก 3.07 แสนคน
สำหรับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในต่างประเทศเมื่อวันที่ 14 ก.ย. องค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงเมื่อวันที่ 13 ก.ย.ว่า วันเดียวกันนี้มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกวันเดียวมากเป็นสถิติใหม่ 307,930 คน ส่วนใหญ่อยู่ใน 3 ประเทศ คือ อินเดีย 94,372 คน สหรัฐอเมริกา 45,523 คน และบราซิล 43,718 คน กรณีอินเดีย พบผู้ติดเชื้อรายวันมากที่สุดในโลกทุกวัน โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีผู้ติดเชื้อวันเดียวมากเป็นสถิติโลก ถึง 97,570 คน เจ้าหน้าที่ของWHO ยังเตือนภูมิภาคยุโรปเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์เลวร้าย ผู้เสียชีวิตรายวัน มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในเดือน ต.ค.และ พ.ย.
หลายชาติตุนวัคซีนไข้หวัด
ด้านรัฐบาลหลายประเทศในเอเชีย อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน และ ออสเตรเลีย เตรียมความพร้อมมาตรการรับมือและเร่งจัดซื้อวัคซีนป้องกันไข้หวัดตามฤดูกาลไว้แต่เนิ่นๆ สำหรับปีนี้ เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดธรรมดาและไวรัสโควิด-19 ไปในตัว กรณีญี่ปุ่นเตรียมวัคซีนไข้หวัดไว้ 31.2 ล้านโดสหรือเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 7 เกาหลีใต้จัดซื้อวัคซีน 30ล้านโดส ไว้ใช้ช่วงฤดูหนาว ส่วนไต้หวันมีแผนฉีดวัคซีนฟรีมากกว่า 6 ล้านโดสในปีนี้ ด้านภูมิภาคอเมริกาเหนือและยุโรป เตรียมพร้อมไว้เช่นกัน โดยสหรัฐฯคาดว่าเตรียมวัคซีนไข้หวัดไว้ประมาณ 200 ล้านโดส หรือมากกว่าช่วงปกติไม่มีโรคระบาด ประมาณร้อยละ 20
ติดเชื้อทั่วโลกลิ่วเกิน 29 ล้าน
ส่วนยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลก ณ วันที่ 14 ก.ย.ทะลุเกิน 29 ล้านคนแล้ว เสียชีวิตทั่วโลก 9.29 แสนคน รักษาหายทั่วโลก 21.04 ล้านคน สหรัฐฯมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมากที่สุดในโลก 6.71 ล้านคน และ 1.98 แสนคน ตามลำดับ ตามด้วยอินเดีย มีผู้ติดเชื้อ 4.85 ล้านคน ผู้เสียชีวิต 7.97 หมื่นคน และบราซิล มีผู้ติดเชื้อ 4.33 ล้านคน ผู้เสียชีวิต 1.31 แสนคน
September 15, 2020 at 05:01AM
https://ift.tt/3mleYQp
"แอตต้า" ออกโรงกดดันเปิดประเทศ รับคนต่างชาติหวังฟื้นธุรกิจท่องเที่ยว - ไทยรัฐ
https://ift.tt/3e2ph87
Home To Blog
No comments:
Post a Comment