เหตุระเบิดครั้งใหญ่ในกรุงเบรุตเมื่อเย็นวันที่ 4 ส.ค. ทำให้มีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ทั้งยังกระหน่ำซ้ำเติมเลบานอนที่กำลังเผชิญวิกฤต เศรษฐกิจเลวร้ายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ประชากรหลายหมื่นคนอยู่ในสภาพยากจน มีการประท้วงต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่าทศวรรษ
เกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจเลบานอนย่ำแย่อยู่แล้วตั้งแต่ก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Debt-to-GDP) สูงที่สุดเป็นอันดับสามของโลก อัตราการว่างงานอยู่ที่ 25% และเกือบหนึ่งในสามของประชากรมีรายได้ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน (Poverty Line)
ปลายปีที่แล้วธนาคารกลางเลบานอนออกนโยบายซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าไม่ต่างจากระบบธุรกิจแบบแชร์ลูกโซ่ที่ประสบความล้มเหลว
ธนาคารกลางใช้วิธีกู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์โดยให้อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าปกติ เพื่อนำไปชำระหนี้และช่วยทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินปอนด์เลบานอนและดอลลาร์สหรัฐฯ คงที่
ขณะเดียวกัน ผู้คนก็ไม่พอใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่รัฐบาลไม่สามารถดูแลบริการสาธารณูปโภคพื้นฐานต่าง ๆ ได้ เช่น เกิดไฟฟ้าดับรายวัน ไม่มีน้ำสะอาดดื่ม เข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างจำกัด และสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ให้บริการอยู่ถือว่าแย่ที่สุดประเทศหนึ่ง
หลายฝ่ายโทษชนชั้นปกครองที่เอาแต่ตักตวงขณะอยู่ในอำนาจมาหลายปี ไม่สามารถทำการปฏิรูปครั้งใหญ่เพื่อแก้ไขปัญหาในประเทศได้
ทำไมคนประท้วงมากขึ้น
ในช่วงต้นเดือน ต.ค. 2019 ปัญหาการขาดแคลนสกุลเงินตราต่างประเทศทำให้เงินปอนด์เลบานอนอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อผู้นำเข้าข้าวสาลีและเชื้อเพลิงบังคับให้ผู้ซื้อต้องชำระหนี้ด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐฯ สหภาพแรงงานต่าง ๆ ก็พากันออกมาประท้วง
นอกจากนี้ เหตุไฟไหม้ป่าที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในแถบเทือกเขาทางตะวันตกของประเทศยังชี้ให้เห็นว่าหน่วยดับเพลิงของประเทศไม่มีเงินทุนและขาดทรัพยากรแค่ไหน
พอมาถึงช่วงกลางเดือนเดือน ต.ค. รัฐบาลก็เสนอเก็บภาษีรูปแบบใหม่กับผลิตภัณฑ์ยาสูบ น้ำมัน และการโทรศัพท์ผ่านแอปพลิเคชันอย่างว็อตส์แอพพ์ (WhatsApp) แต่ก็โดนต่อต้านจนต้องล้มเลิกไป
ชาวเลบานอนหลายหมื่นคนออกประท้วงตามท้องถนนทำให้นายกรัฐมนตรีซาอัด อัล ฮาริรี ที่ได้รับการสนับสนุนจากชาติตะวันตก และรัฐบาลของเขาต้องลาออก
นายฮัสซัน ดิยาบ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ประกาศว่าเลบานอนจะไม่สามารถชำระหนี้ต่างประเทศตรงเวลาเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เพราะเงินสกุลสำรองต่างประเทศมีเหลืออยู่น้อยมาก และต้องกันไว้สำหรับชำระค่าสินค้านำเข้าที่จำเป็น
การระบาดใหญ่ทำให้สถานการณ์แย่ลงแค่ไหน
การล็อกดาวน์และตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่สูงขึ้นทำให้ไม่มีผู้ออกมาประท้วงตามท้องถนน แต่ในอีกมุมหนึ่ง วิกฤตเศรษฐกิจเลบานอนก็ยิ่งแย่ลงเรื่อย ๆ และสะท้อนความไม่สมบูรณ์ของระบบสวัสดิการสังคม
บริษัทหลายแห่งต้องปิดกิจการ อัตราแลกเปลี่ยนทางการของเงินปอนด์เลบานอนกับในตลาดมืดแตกต่างกันมากขึ้นเรื่อย ๆ
ราคาสินค้าที่สูงขึ้นทำให้หลายครอบครัวไม่สามารถซื้อแม้แต่สินค้าจำเป็นพื้นฐานได้
เศรษฐกิจที่ย่ำแย่นำไปสู่การประท้วงครั้งใหม่ และเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ชายหนุ่มคนหนึ่งถูกทหารยิงเสียชีวิตในการประท้วงที่เมืองตริโปลี และธนาคารหลายแห่งถูกจุดไฟเผา
แต่ในเวลาเดียวกันนั้น รัฐบาลก็อนุมติแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจในที่สุด และได้รับเงินกู้มูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)
ทำไมเลบานอนถึงแก้ปัญหาไม่ได้
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ชี้ว่าเป็นเพราะคนต่างกลุ่มก็ต่างมุ่งดูแลผลประโยชน์ของตัวเอง เลบานอนมีนิกายทางศาสนาที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ 18 นิกายด้วยกัน โดยแบ่งเป็นศาสนาอิสลาม 4 นิกาย, ศาสนาคริสต์ 12 นิกาย, นิกายดรูซ (หนึ่งในนิกายที่แยกออกมาจากศาสนาอิสลาม) และศาสนายิว
ในทางการเมืองก็มีการแบ่งแยกกันทั้งฝ่ายประธานาธิบดี ประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายกรัฐมนตรี โดยแยกกันไปตามกลุ่มศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ คือคริสต์นิกายมาโรไนต์, อิสลามนิกายชีอะห์ และมุสลิมนิกายนิกายซุนนี ตามลำดับ อันเป็นไปตามข้อตกลงที่มีมาตั้งแต่ปี 1943
นอกจากนี้ ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 128 ตำแหน่ง มีการแบ่งสรรอย่างเท่าเทียมระหว่างชาวคริสต์และชาวมุสลิม (รวมถึงนิกายดรูซ) อีกด้วย
ความหลากหลายนี้ทำให้ประเทศตกเป็นเป้าถูกอิทธิพลต่างชาติชักจูงได้ง่าย อาทิ อิหร่านที่สนับสนุนกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ในเลบานอน ซึ่งถูกมองว่าเป็นกลุ่มการเมืองและการทหารที่ทรงอำนาจที่สุดในประเทศ
หลังสงครามกลางเมืองสิ้นสุด นักการเมืองจากแต่ละฝักฝ่ายก็รักษาอำนาจและผลประโยชน์ของตัวเองผ่านระบบอุปถัมภ์
องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International - TI) จัดให้ดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชันของเลบานอนในปี 2019 อยู่ที่อันดับ 137 จากทั้งหมด 180 ประเทศ
องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ บอกว่า ระบบการรักษาอำนาจเพื่อฝักฝ่ายของตนนี้เองที่ยิ่งทำให้ระบบอุปถัมภ์แข็งแรงและเป็นอุปสรรคต่อระบบการบริหารประเทศ
August 05, 2020 at 05:57PM
https://ift.tt/30tX2dI
เลบานอนกำลังเผชิญวิกฤตอะไร ก่อนเกิดเหตุระเบิดใหญ่ที่กรุงเบรุต - บีบีซีไทย
https://ift.tt/3e2ph87
Home To Blog
No comments:
Post a Comment