6 วันหลังการหายตัวไปของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือตาร์ ผู้ลี้ภัยชาวไทย มีคำยืนยันจาก รมว.ต่างประเทศว่าชายไทยรายนี้ไม่ใช่ "ภัยคุกคามต่อความมั่นคง" ส่วนคำถามจาก ส.ส.ฝ่ายค้านที่ว่าการมีชื่อปรากฏใน "ผังหมิ่นสถาบัน" คือมูลเหตุจูงใจในการ "อุ้มหาย" หรือไม่ ยังไม่มีคำตอบจากรัฐบาล
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ได้เล่าถึงฉากการทูตที่เกิดขึ้นเมื่อ 2-3 ปีก่อน ในระหว่างพบปะพูดคุยกับคณะทูตานุทูต 22 ประเทศ จากกลุ่มทูตที่มีสมาชิกอยู่ 28 ประเทศ โดยหนึ่งในประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นหารือคือประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
- ดอน : มาตรา 112 ก็เป็นเหมือนกฎหมายที่มีอยู่ในทุกประเทศ ในความหมายของการมีกฎหมายเฉพาะถิ่น เฉพาะที่ เฉพาะตามความจำเป็นของประเทศนั้น ๆ ซึ่งเชื่อว่าทุกประเทศก็ต้องมีกฎหมายอาญา มันเป็นเช่นนั้นไหม
- ทูต : ทุกประเทศผงกศีรษะและตอบรับว่าใช่ ทุกประเทศมีกฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับปัจจัยทางสังคมและปัญหาที่มีอยู่ ซึ่งไม่ต่างจากมาตรา 112 แต่บริบทอาจคนละเรื่องกัน
- ดอน : มาตรา 112 เป็นที่เดือดร้อนของคนไทยเท่าไร
- ทูต : ตอบไม่ถูกเหมือนกัน แต่ได้รับฟังมาจากเพื่อนคนไทยในแวดวงการเมืองว่ามีปัญหามาตรา 112
- ดอน : หากจะพูดถึงคนที่ห่วงใยและกังวลเกี่ยวกับมาตรานี้ คงแยกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ กลุ่มแรกคือ 67 ล้านคนซึ่งไม่เห็นว่ามีปัญหา อีกกลุ่มอาจจะมีไม่ถึง 100 คนที่บอกว่าเป็นปัญหา เพราะ 67 ล้านคนเขาเห็นว่าเรื่องอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับสถาบันหรือตามที่รับรู้มาล้วนแต่เป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติแก่ตัวเขา ส่วนน้อยอีกฟากหนึ่งถือว่ามีปัญหาในมุมมองของเขา ถ้าเช่นนี้ในความรับรู้ของ 22 ประเทศ ท่านจะถือว่าเป็นปัญหาแค่ไหน
- ทูต : ทุกคนเงียบและไม่ตอบ ไม่ต่อความยาวเรื่องนี้อีก ทุกคนยอมรับและรับทราบ
นายดอนให้เหตุผลว่าที่หยิบยกเรื่องนี้มาเล่ากลางสภาเพื่อบอกว่า "อะไรก็ตามที่ท่านได้ยิน เราก็คุยกันเหมือนกัน คนที่ท่านเอ่ยถึง เช่น แอนดูรว์ หรือใครก็ตามที่ท่านเอ่ยชื่อมาคือ 'ตัวปัญหา' นั่นเอง และหลายเรื่องที่ท่านทราบมาล้วนแต่เป็นเฟคนิวส์"
คำอธิบายของนายดอนเกิดขึ้นในระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 10 มิ.ย. โดยฝ่ายค้านได้ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจารัฐบาล กรณีนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ถูก "อุ้มหาย" ระหว่างพำนักอยู่ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ตั้งแต่ 4 มิ.ย. จำนวน 2 กระทู้ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้มอบหมายให้นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม และนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ เป็นผู้ตอบกระทู้
หนึ่งในคำถามของนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เจ้าของกระทู้คือ เหตุใดจึงมีชื่อนายวันเฉลิมปรากฏใน "ผังหมิ่นสถาบัน" ทั้งที่ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้อำนวยการสำนักงานพระธรรมนูญทหารบก ระบุว่านายวันเฉลิมไม่ได้ถูกแจ้งข้อหาตามมาตรา 112 และเป็นไปได้หรือไม่ว่าการมีชื่อในผังดังกล่าวคือมูลเหตุจูงใจในการ "อุ้มหาย" และรัฐบาลได้ตรวจสอบข้อมูลที่ปรากฏในเพจต่าง ๆ เช่น เพจแอนดรูว์ แมคเกรเกอร์ มาร์แชล และเพจ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่งอ้างถึงบุคคลที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของนายวันเฉลิมหรือไม่ ทำให้นายดอนต้องลุกขึ้นมาอธิบายเรื่องมาตรา 112 ด้วยภาษาทางการทูต
อย่างไรก็ตามนายรังสิมันต์ได้ตั้งคำถามต่อไปว่าหากกรณี 112 ไม่สำคัญและไม่เป็นปัญหาตามที่รัฐมนตรีระบุ จะอธิบายอย่างไรต่อแฮชแท็ก #ยกเลิก112 ที่ขึ้นเป็นเทรนด์ยอดนิยมอันดับ 1 ของทวิตเตอร์เมืองไทย และยังมีข้อมูลในทางวิชาการระบุว่าการตั้งข้อหา 112 ก่อให้เกิดปัญหาต่อกระบวนการยุติธรรมของไทย
นายดอนตอบว่า ถ้าจะพูดถึงทวิตเตอร์ ก็คงรับทราบว่าขณะนี้ในโลกโซเชียลปั่นกระแสได้ง่ายอย่างไรแค่ไหน เพื่อนอาเซียนหลายคนที่ได้มาพบปะพูดคุยกันก็ล้วนแต่แสดงความห่วงใยในปัญหานี้ เพราะก็มีปัญหาในลักษณะเดียวกัน
วันเฉลิม ไม่ใช่ "ภัยคุกคามต่อความมั่นคง"
ส่วนคำที่ว่า "ไม่มีความสำคัญ" นายดอนได้ใช้ในระหว่างตอบกระทู้ของนายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ที่สอบถามความคืบหน้าในการติดตามช่วยเหลือนายวันเฉลิมที่หายตัวไป 6 วันแล้ว รวมถึงนโยบายการดูแลผู้ลี้ภัยชาวไทยที่อยู่ในต่างประเทศ และการประสานงานกับองค์กรข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR)
ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมา 6 ปี และมีโอกาสเห็นรายชื่อ "ผู้มีปัญหาด้านความมั่นคง" นายดอนยืนยันว่าไม่เคยเห็นชื่อนายวันเฉลิมมาก่อน
"เรื่องของคุณวันเฉลิมไม่ได้มีความสำคัญมากนักในมุมของการต่างประเทศก็ดี หรือความมั่นคงก็ดี ความหมายคือไม่น่าจะเป็นผู้ที่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง" นายดอนตอบกระทู้ของฝ่ายค้าน
คำยืนยันจากปาก รมว.ต่างประเทศ กลางสภา ทำให้ผู้พูดเชื่อว่า "น่าจะเป็นเรื่องดีของครอบครัว" แต่ก็ยังไม่ใช่คำตอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. แม้มีหลักฐานเป็นคลิปวิดีโอจากกล้องวงจรปิดเผยแพร่ตามสื่อต่าง ๆ แต่นายดอนเห็นว่า "คลิปที่มาก็มาจากหลายสาเหตุ ยิ่งถ้าเป็นนักดูภาพยนตร์ก็ต้องตีความไปหลากหลายว่าสาเหตุจะเป็นอะไรได้บ้าง"
นายดอนจึงขอให้รอฟังคำตอบจากทางการกัมพูชา ซึ่งทราบว่าทางกัมพูชาจะเข้าไปตรวจสอบเรื่องนี้ และคงต้องใช้เวลาเช่นเดียวกับหลาย ๆ เรื่องในอดีต ส่วนตัวไม่อยู่ในข่ายที่จะพยากรณ์คาดเดาอะไรได้ล่วงหน้า จนกว่าจะได้รับคำตอบจากฝ่ายกัมพูชา
รมว.ต่างประเทศกล่าวยืนยันว่า กระทรวงการต่างประเทศให้ความสำคัญและพร้อมดูแลคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศราว 1.67 ล้านคนทุกคน ทว่าความต่างคือบางส่วนเลือกที่จะ "ไม่แสดงตัว" และไม่แจ้งข้อมูลต่อสถานทูต โดยเฉพาะคนที่คิดจะอยู่นาน ๆ จนกระทั่งเกิดเรื่องขึ้น
"ผู้ที่ไปแล้วมีปัญหาตั้งแต่ต้นก็คงไม่อยากแสดงตัว ไม่ต้องการให้รับรู้ว่าอยู่ที่ไหน และทำอะไรอยู่ กรณีคุณวันเฉลิมน่าจะอยู่ในข่ายนั้นด้วย" นายดอนกล่าว
เหน็บองค์กรสิทธิฯ "ปล่อยข่าว" เรียกความสนใจ ทั้งที่วันเฉลิมไม่เคยขอสถานะผู้ลี้ภัย
อีกประเด็นที่นายดอนยืนยันคือ นายวันเฉลิมไม่มีสถานะผู้ลี้ภัยที่ต้องได้รับการดูแลปกป้องจากองค์กรใด ๆ และไม่มีชื่ออยู่ในระบบของ UNHCR เนื่องจากไม่เคยสมัครหรือขอสถานะผู้ลี้ภัย ส่วนข่าวที่ออกมาเมื่อวันที่ 5-6 มิ.ย. จากฮิวแมนไรท์วอทช์ และแอมเนสตี้ "จะเรียกว่ามาจากการปล่อยข่าวก็ได้ว่ามีเรื่องนี้เกิดขึ้น ให้เป็นบรรยากาศที่ผู้คนจะได้สนใจกัน" ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์กรระหว่างประเทศไม่ว่ายูเอ็นหรือนอกยูเอ็น บัดนี้รับทราบแล้ว คงติดตามอยู่ และคงรอฟังคำตอบจากกัมพูชาตามที่ไทยได้สอบถามไป
"การเข้าไปตั้งแต่ปี 2557 เพราะไม่ตอบสนองคำสั่ง คสช. ก็คงเข้าไปด้วยเหตุผลความปลอดภัย และเมื่อเข้าไปแล้ว รับทราบมาว่าอยู่ในกัมพูชาหลายปี แต่หลายปีนั้นก็เข้า ๆ ออก ๆ แต่ช่วงระยะหลังไม่ได้ออก เนื่องจากกัมพูชาไม่ได้ต่อวีซ่าให้ จึงเลือกอยู่และไม่ออกมาอีก ดังนั้นสถานะผู้ลี้ภัยจึงไม่ได้รับการรับรอง ไม่ได้อยู่ในข่ายหนีภัยทางการเมืองอย่างแท้จริง และอาจมาจากการตรวจสอบของ UNHCR เองด้วยซ้ำว่ามีอะไรคุกคามคุณวันเฉลิมไหม ก็คงได้คำตอบว่าไม่มี" นายดอนกล่าว
นายวันเฉลิมตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศหลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 ก่อนถูกออกหมายจับคดีฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวของ คสช. เมื่อปี 2557 และคดีผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นแอดมินเพจ "กูต้องได้ 100 ล้าน จากทักษิณแน่ๆ" เจ้าของโพสต์บิดเบือนให้ร้ายรัฐบาลเมื่อปี 2561
กระทั่งวันที่ 4 มิ.ย. นายวันเฉลิมได้หายตัวไปขณะกำลังคุยโทรศัพท์กับพี่สาว โดยเสียงสุดท้ายที่คู่สนทนาได้ยินคือ "หายใจไม่ออก ๆ" ก่อนที่สายจะตัดไป
ส.ส.เจ้าของกระทู้ ยังบอกด้วยว่า หลังเกิดเหตุได้ให้คนไปสอบถามมารดาของนายวันเฉลิม แต่เจ้าตัวไม่อยากพบใคร และอยู่อย่างหวาดกลัว
"แม่ของเขาอายุมากแล้ว มีลูกชายเป็นหลักชัยของครอบครัว ถ้าคนที่ทำเรื่องนี้ฟังอยู่ ปล่อยเขามาเถอะ ผมไม่ได้คาดหวังอะไรมากจากกรณีนี้ แค่อยากให้เป็นกรณีสุดท้าย และได้แต่ภาวนาให้เขารอดกลับมาเท่านั้นเอง" นายสมคิดกล่าว
โรมซัดนายกฯ ตีมึน ไม่สนใจปกป้องชีวิตคนไทย
ขณะที่นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ลำดับข้อมูลเรื่องการหายตัวไปอย่างลึกลับของนายวันเฉลิม ก่อนตั้งข้อสังเกตว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น "อาจมีเงื่อนงำ" เนื่องจากนายวันเฉลิมเป็นผู้ลี้ภัยการเมืองตั้งแต่รัฐประหาร 2557 อีกทั้งเมื่อผู้สื่อข่าวไปสอบถามท่าทีจากนายกฯ และโฆษก สตช "ทุกท่านก็ตีมึน ไม่ได้กระตือรือร้นในการทำหน้าที่ปกป้องชีวิตของประชาชนชาวไทย เปรียบเสมือนลาแก่นอนแน่นิ่ง ไม่รู้ร้อนรู้หนาว ต้องรอให้เอาแส้มาฟาด เอาน้ำร้อนมาสาด ให้สังคมกดดัน ถึงจะสะดุ้งลุกขึ้นมาแล้วกล่าวว่าได้ประสานงานกับทางการกัมพูชาแล้ว"
ส.ส.ฝ่ายค้านกล่าวว่า ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์เถลิงอำนาจเมื่อปี 2557 ได้เกิดกรณี "อุ้มหาย" นักกิจกรรมการเมืองรวม 9 ราย โดยมีอยู่ 2 รายที่ยืนยันการเสียชีวิตแล้ว
เขาจึงตั้งกระทู้ถาม และได้คำตอบจาก รมว.ยุติธรรม ดังนี้
กรณี "อุ้มหาย" ในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จำนวน 9 คดี มีรายละเอียดความคืบหน้าล่าสุดในแต่ละคดีอย่างไร เหตุใดจึงยังไม่รู้ว่าผู้ก่อเหตุในแต่ละคดีเป็นใคร และชะตากรรมของผู้ลี้ภัย 7 รายเป็นอย่างไร
นายสมศักดิ์ไม่ได้ตอบคำถามนี้ในครั้งแรก แต่ได้ย้อนกลับมาไล่เลียงรายชื่อบุคคลผู้สูญหายจำนวน 8 คน อาทิ นายสมชาย นีละไพจิตร นายกมล เหล่าโสภาพัน ฯลฯ ก่อนระบุว่าทั้งหมดนี้อยู่ระหว่างการติดตามในคณะอนุกรรมการติดตามของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ถ้าผู้ทรงเกียรติต้องการทราบรายละเอียด ยินดีจะช่วยประสานดูรายละเอียดที่ลึกซึ้งกว่านี้
อย่างไรก็ตามนายรังสิมันต์ได้กล่าวตำหนิตัวเองที่ "ถามไม่ตรงคำถามที่ รมว.ยุติธรรมเตรียมมา" เพราะ 9 คนที่เขาพูดหมายถึงนายเด่น คำแหล้, นายอิทธิพล สุขแป้น, นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ, นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์, นายชัชชาญ บุปผาวัลย์, นายไกรเดช ลือเลิศ, นายชีพ ชีวะสุทธิ์, นายกฤษณะ ทัพไทย, นายสยาม ธีรวุฒิ นี่คือคนที่สูญหายในช่วง พล.อ.ประยุทธ์ขึ้นสู่อำนาจ
กรณีนายวันเฉลิม รัฐบาลจะมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมอย่างไรเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าคดีนี้จะไม่ซ้ำรอยคดีอื่น ๆ ที่ยืดเยื้อและไม่เห็นความหวัง
นายสมศักดิ์ยืนยันว่า นายวันเฉลิมไม่เคยขอความช่วยเหลือใด ๆ จากส่วนงานของกระทรวงยุติธรรม อย่างไรก็ตามนายกฯ มีความห่วงใยในเรื่องนี้ จึงออกคำสั่งพิเศษ นร. ที่ 338/62 เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและทำให้สูญหาย โดยมี รมว.ยุติธรรม เป็นประธาน โดยที่ตัวรัฐมนตรีเองก็ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 4 ชุด ได้แก่ 1. คณะอนุกรรมการส่วนคัดกรองเรื่องร้องทุกข์ มีผู้อำนวยการพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพเป็นประธาน 2. คณะอนุกรรมการติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริง มีอธิบดีดีเอสไอเป็นประธาน 3. คณะอนุกรรมการเยียวยา มีอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นประธาน และ 4. คณะอนุกรรมการป้องกัน มี ศ.ณรงค์ ใจหาญ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เป็นประธาน
นายสมศักดิ์ยังอ้างถึงข้อมูลที่ไทยเสนอขอถอดถอนชื่อออกจากบัญชีบุคคลสูญหายขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ซึ่งในปี 2560 มีผู้ถูกบังคับให้สูญหายอยู่ 87 ราย แต่ปัจจุบันเหลือ 75 ราย
รมว.ยุติธรรมยังย้ำด้วยว่า รัฐบาล "มุ่งมั่นจริงใจ" ในการป้องกันปัญหาด้วยการตราร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.... เพื่อให้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม แต่ที่ผ่านมากระบวนการจัดทำกฎหมายล่าช้าเพราะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้องตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ
ฝ่ายความมั่นคงมองนายวันเฉลิมว่ามีบทบาทต่อการเมืองไทยอย่างไร เหตุใดจึงมีชื่อเป็นผู้ต้องหาในคดีหมิ่นสถาบันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทั้งที่ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้อำนวยการสำนักงานพระธรรมนูญทหารบก กล่าวเมื่อ 8 มิ.ย. ว่านายวันเฉลิมไม่ได้ถูกแจ้งข้อหาตามมาตรา 112 และเป็นไปได้หรือไม่ว่าการมีชื่อใน "ผังหมิ่นสถาบัน" คือมูลเหตุจูงใจในการ "อุ้มหาย"
"การที่คุณวันเฉลิมอยู่ในผังที่ฝ่ายความมั่นคงทำแบบนี้ขึ้นมา เดิม โดนแค่ขัดคำสั่ง คสช. แต่พอไปอยู่ต่างประเทศ ก็เอาเขาไปอยู่ใน 'ผังล้มเจ้า' เราก็เห็นว่ากระบวนการพิจารณาคดีเป็นไง สุดท้ายคุณวันเฉลิมไม่กลับแล้วก็นำไปสู่การอุ้มหาย" นายรังสิมันต์ให้เหตุผลประกอบการตั้งกระทู้ถาม
นายสมศักดิ์ไม่ได้ตอบคำถามนี้ โดยบอกเพียงว่าในส่วนของบุคคลที่ถูกอุ้มหายในต่างประเทศเป็นกรณีที่ไม่ปกติ เพราะไม่มีทางทราบข่าวได้ก่อนเกิดเหตุ และไม่สามารถดำเนินการสืบสวนสอบสวนบนอธิปไตยของผู้อื่น ที่ทำได้คือต้องร้องเรียนและประสานงานผ่านกระทรวงการต่างประเทศ
รัฐบาลได้ตรวจสอบข้อมูลที่ปรากฏในเพจต่าง ๆ เช่น เพจแอนดรูว์ แมคเกรเกอร์ มาร์แชล และเพจ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่งอ้างถึงบุคคลที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของนายวันเฉลิมหรือไม่
นายสมศักดิ์ไม่ได้ตอบคำถามนี้ โดยให้เหตุผลว่า "มันเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งครับ" และโยนให้ รมว.ต่างประเทศเป็นผู้ตอบคำถาม
June 10, 2020 at 05:22PM
https://ift.tt/3hbEsNH
ประชุมสภา : รมว.ต่างประเทศยืนยัน วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่ “ภัยคุกคามต่อความมั่นคง” พร้อมเปิดบทสนทนากับทูตว่าด้วย ม. 112 - บีบีซีไทย
https://ift.tt/3e2ph87
Home To Blog
No comments:
Post a Comment