ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย โจโก วิโดโด ได้เปิดตัวนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ในบาตัม เพื่อแสดงความพร้อมในการทำธุรกิจ โดยได้กล่าวระหว่างการเยี่ยมชมนิคมอุตสาหกรรมว่า “เราต้องการบริษัทจากจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน สหรัฐ และบริษัทจากทั่วโลกให้ย้ายมาอยู่ที่นี่”
การผลักดันดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวในภาพรวมของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ต่างพยายามดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ โดยการนำเสนอแรงจูงใจสำหรับบริษัทใหม่ที่ต้องการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนอันเนื่องมาจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน
ในขณะที่องค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่าการลงทุนจากต่างชาติในตลาดเกิดใหม่ในเอเชียน่าจะลดลงถึง 45% เนื่องจากวิกฤตโคโรนาไวรัส ทำให้แต่ละประเทศต้องแข่งขันกันอย่างรุนแรงเพื่อแย่งชิงโอกาสนี้
อินโดนีเซียวางแผนที่จะสร้างนิคมอุตสาหกรรม 19 แห่งภายในปี 2024 และยังมีมาตรการลดภาษีนิติบุคคลจาก 25% เป็น 22% ในปีนี้ และลดลงเหลือ 20% ในปี 2022 ซึ่งเร็วกว่าที่วางแผนไว้ 1 ปี รวมถึงยังมีข้อเสนอลดราคาที่ดิน 50% จากราคาที่ประเทศคู่แข่งเสนออีกด้วย
ในขณะเดียวกันประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคต่างมีความพยายามในการแข่งขันมากยิ่งขึ้นเช่นกัน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของประเทศไทย (BOI) ได้อนุมัติมาตรการกระตุ้นสำหรับภาคการเกษตรเมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมุ่งหวังที่จะดึงนักลงทุนที่ต้องการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีน
ประเทศมาเลเซียได้ประกาศยกเว้นภาษีเป็นเวลา 15 ปี สำหรับผู้ผลิตที่เข้ามาลงทุนใหม่คิดเป็นมูลค่า 500 ล้านริงกิต (117 ล้านดอลลาร์) เป็นต้นไป ส่วนประเทศเมียนมาร์เน้นเจาะกลุ่มบริษัทต่างชาติที่มีความแข็งแกร่งทางการเงินให้เข้ามาลงทุน
ในขณะที่ประเทศเวียดนามต้องการดึงดูดนักลงทุนยุโรปภายหลังจากมีข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับ EU ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคมนี้
แต่ละประเทศต่างมุ่งเน้นความสนใจไปที่ธุรกิจการดูแลสุขภาพ หลังจากที่ต้องพึ่งพาประเทศจีนในการจัดหาหน้ากากและอุปกรณ์ป้องกันตัวจากโรคในช่วง
ประธานาธิบดีวิโดโดกระตุ้นให้บริษัทที่ทำธุรกิจด้านสุขภาพของสหรัฐเข้ามาตั้งฐานในประเทศอินโดนีเซีย และยังประกาศมาตรการทางภาษีที่ดึงดูดผู้ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์อีกด้วย ในขณะที่ประเทศไทยจะมีการพิจารณายืดเวลาการยกเว้นภาษีสำหรับการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์และยา เพื่อที่จะผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางด้านการดูแลสุขภาพและธุรกิจที่เกี่ยวข้องของภูมิภาค
ความพยายามเหล่านี้เกิดขึ้นเนื่องจากบริษัทของสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่นต่างพิจารณาที่จะย้ายออกจากประเทศจีน รัฐบาลญี่ปุ่นยังได้อนุมัติงบประมาณ 2.35หมื่นล้านเยน (219 ล้านดอลลาร์) เพื่อสนับสนุนบริษัทที่จะกระจายฐานการผลิตไปยังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศอื่นๆ
ในขณะที่จีนอาศัยอิทธิพลทางเศรษฐกิจเป็นข้อต่อรองทางการฑูต บางฝ่ายมองว่าญี่ปุ่นและสหรัฐควรร่วมมือกับประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้ง 10 ประเทศในการสร้างห่วงโซ่อุปทานใหม่เพื่อเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติอีกประการ
July 06, 2020 at 03:02AM
https://ift.tt/2C5UcBO
ประเทศในอาเซียนชิงฐานการผลิตใหม่ รับทุนต่างชาติย้ายฐานจากจีน - Businesstoday
https://ift.tt/3e2ph87
Home To Blog
No comments:
Post a Comment