Pages

Saturday, July 18, 2020

ในหลวง ร. 9: ครบรอบ 60 ปี ของการเสด็จเยือนสหราชอาณาจักร "พระราชกรณียกิจทางการทูตที่สำคัญ" - บีบีซีไทย

selasartari.blogspot.com
  • โดย นพพร วงศ์อนันต์
  • บีบีซีไทย

เสด็จประพาสสหราชอาณาจักร

11:15 น. ของวันที่ 19 ก.ค. 2503 เครื่องบินพระที่นั่งของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ร่อนลงที่ท่าอากาศยานแกตวิค สหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นประเทศที่ 2 ของการเสด็จประพาสครั้งใหญ่ 14 ประเทศ

นั่นคือจุดเริ่มต้นของการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหราชอาณาจักรของทั้ง 2 พระองค์ ระหว่างวันที่ 19-23 ก.ค. 2503

สหราชอาณาจักรคือ 1 ใน 14 ประเทศที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงตอบรับคำกราบบังคมทูลเชิญให้เสด็จพระราชดำเนินเยือน พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

การเสด็จประพาส 14 ประเทศ กินเวลาถึง 7 เดือน นับแต่วันที่เสด็จพระราชดำเนินออกจากไทยเมื่อ 14 มิ.ย. 2503 จนถึงวันเสด็จพระราชดำเนินนิวัตประเทศไทยเมื่อ 18 ม.ค. 2504 โดยช่วงเวลาดังกล่าวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

เสด็จประพาส

"ผูกน้ำใจกันไว้ให้ดี"

ก่อนเสด็จพระราชดำเนินออกนอกประเทศในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานพระราชดำรัสอำลาประชาชน โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า

"ประชาชนชาวไทยทั้งหลาย เมื่อปีใหม่ข้าพเจ้าได้แจ้งให้ทราบแล้วว่า ประเทศต่าง ๆ ได้เชิญให้ไปเยี่ยมเป็นทางราชการ บัดนี้ถึงกำหนดที่ข้าพเจ้าและพระราชินีจะได้ไปประเทศเหล่านั้น พรุ่งนี้จะออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาก่อน แล้วจะไปประเทศอื่น ๆ ในยุโรปอีก 13 ประเทศ

การไปต่างประเทศคราวนี้ ก็ไปเป็นทางราชการแผ่นดิน เป็นการทำตามหน้าที่ของข้าพเจ้า ในฐานะเป็นประมุขของประเทศ เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าในสมัยนี้ ประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็กต้องพึ่งพาอาศัยกันอยู่เสมอ จะว่าชนทุกชาติเป็นญาติพี่น้องกันก็ว่าได้ จึงควรพยายามให้รู้จักนิสัยใจคอกัน ทั้งต้องผูกน้ำใจกันไว้ให้ดีอีกด้วย"

โปรดเปิดการใช้งาน JavaScript หรือบราวเซอร์ต่างออกไป เพื่ดูเนื้อหานี้

เสด็จประพาส

จากสงครามโลก สู่ "สงครามเย็น"

นักวิชาการและนักการทูตไทยเห็นพ้องว่าการเสด็จเยือนสหรัฐฯ และยุโรปในครั้งนั้น เป็นพระราโชบายและพระปรีชาสามารถของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทำให้ไทยผ่านมรสุม "สงครามเย็น" มาได้ และผลักดันให้สถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติมาถึงปัจจุบัน

ในงานเสวนาหัวข้อ "เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม: เบื้องหลังพระราชกรณียกิจรัชกาลที่ 9 ในนานาประเทศ" เมื่อ ก.ย. 2560 ไกรฤกษ์ นานา นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ยุโรป อธิบายถึงบริบทการเมืองโลกในขณะนั้นว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้ชนะสงครามพยายาม "จัดระเบียบโลกใหม่" พร้อมกับรุกคืบ-กินแดนของหลายประเทศในยุคแห่งการแสวงหาเอกราชจากประเทศเจ้าอาณานิคม จึงปะทะกับขบวนการท้องถิ่นปลดแอกที่รับอุดมการณ์คอมมิวนิสต์มาใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ ส่วนประเทศในเอเชียที่เพิ่งพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตกต่างพะวักพะวน และตกลงกันไม่ได้ว่าจะใช้ระบอบการปกครองแบบไหน

แม้บริบทไทยต่างจากชาติอื่น ไม่ต้องต่อสู้เพื่อเอกราชจากเจ้าอาณานิคม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 กระทบเสถียรภาพทางการเมืองของไทยอย่างยิ่งยวด ระหว่างกลุ่มการเมืองที่ยืนเคียงฝ่ายสัมพันธมิตร นำโดยปรีดี พนมยงค์ กับกลุ่มที่สนับสนุนฝ่ายอักษะ นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม

ทว่าความขัดแย้งของฝ่ายปรีดี-จอมพล ป. ถูกสกัดด้วยการยึดอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2500 นำไปสู่การกวาดล้างผู้สนับสนุนของทั้งสองฝ่าย และการกระชับสัมพันธ์กับสหรัฐฯ

ขณะเดียวกันภาพลักษณ์ไทยในสายตาโลกตะวันตกยังไม่สู้ดีนัก ซึ่งไกรฤกษ์ชี้ว่า "เป็นเพราะไม่มีใครอยากเปิดบ้านต้อนรับไทยในฐานะพันธมิตรของญี่ปุ่น" แต่ขณะเดียวกัน "สยามก็ไม่เคยประกาศสงครามกับสหรัฐฯ มาก่อน"

โปรดเปิดการใช้งาน JavaScript หรือบราวเซอร์ต่างออกไป เพื่ดูเนื้อหานี้

เสด็จประพาส

ในปี 2503 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จประพาสครั้งใหญ่ 14 ประเทศ เริ่มจากสหรัฐฯ และตามด้วยประเทศในแถบยุโรป

ไกรฤกษ์อธิบายว่า เหตุที่สหรัฐฯ เป็นประเทศแรกที่ทรงเสด็จฯ เยือน เพราะในเวลานั้นสหรัฐฯ ถือเป็น "พี่ใหญ่" เป็นอภิมหาอำนาจ มีความสำคัญสูงสุดในเชิงสัญลักษณ์ และกลายเป็น "ใบเบิกทาง" ไปสู่ยุโรป

นอกจากนี้ ไทยเป็นพันธมิตรทางสนธิสัญญาชาติแรกของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ และเป็นการฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่ขาดหายไปถึง 29 ปี นับจากในหลวงรัชกาลที่ 7 เสด็จประพาสในปี 2474 ที่สำคัญเป็นการประกาศว่าไทยเป็นประเทศที่อยู่ในค่ายของโลกเสรีอย่างเต็มที่

"บริบทของการเสด็จฯ เยือนสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่าไทยเป็นชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ และโลกเสรี ท่ามกลางสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญกับสงครามเย็น" เตช บุนนาค อดีต รมว. ต่างประเทศ และอดีตที่ปรึกษาสำนักราชเลขาธิการให้สัมภาษณ์มติชนเมื่อ ต.ค. 2559

เสด็จประพาส

จากสหรัฐอเมริกามาสหราชอาณาจักร

สหราชอาณาจักรเป็นประเทศที่ 2 ของการเสด็จฯ เยือนและเป็นประเทศแรกของทวีปยุโรป ทั้งสองพระองค์ทรงได้รับการถวายการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติ

หมายกำหนดการพระราชกรณียกิจแบ่งออกเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนอย่างเป็นทางการระหว่าง 19-21 ก.ค. และส่วนพระองค์ระหว่าง 22-23 ก.ค.

ก่อนเที่ยงของ 19 ก.ค. เมื่อเครื่องบินพระที่นั่งลงจอดที่สนามบินแกตวิค ทั้งสองพระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินโดยรถไฟพระที่นั่งขบวนพิเศษไปถึงสถานีรถไฟวิคตอเรีย โดยมี สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และดยุคแห่งเอดินบะระ พร้อมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ทรงรับเสด็จ

หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมด้วยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และดยุคแห่งเอดินบะระ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถม้าพระที่นั่งไปยังพระราชวังบักกิงแฮม

เสด็จประพาส

ทั้งสองพระองค์ทรงเสด็จเยือนสถานที่สำคัญในกรุงลอนดอน ได้แก่ โบสถ์เวสต์มินสเตอร์ พระตำหนักแคลเรนซ์เฮาส์ พระราชวังเซนต์เจมส์ กิลฮอลด์

ตอนหนึ่งของพระราชดำรัสตอบสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในงานถวายเลี้ยงพระราชวังบักกิงแฮม เมื่อ 19 ก.ค. 2503 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงตรัสถึงความชื่นชมของราชวงศ์ไทยต่อชาวอังกฤษ

"ในประเทศของหม่อมฉัน ลักษณะนิสัยของชาวอังกฤษนั้นเป็นที่ชื่นชมมาก ความตรงไปตรงมา ความมีน้ำใจเป็นนักกีฬา รวมทั้งความอดทนไม่ย่อท้อนั้นถือเป็นคุณสมบัติที่ดึงดูดใจและสร้างแรงบันดาลใจ ด้วยเหตุนี้จึงเหมาะสมอย่างยิ่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระอัยกาของหม่อมฉันทรงเลือกสหราชอาณาจักร เป็นประเทศแรกในการส่งนักเรียนไทยกลุ่มแรกมาศึกษาในต่างประเทศ"

เสด็จประพาส

อีกตอนหนึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงตรัสว่า

"แม้ประชาชนชาวไทยจะไม่สามารถมาเยี่ยมเยือนประเทศแห่งนี้ได้ทุกคน แต่หม่อมฉันรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่ได้เป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทยในการนำไมตรีจิตและความปรารถนาดีมามอบให้ฝ่าพระบาทผู้ทรงเป็นประมุขของประเทศ หม่อมฉันหวังว่าการมาเยือนของหม่อมฉันในครั้งนี้จะส่งผลให้ความสัมพันธ์ของราชวงศ์ของเราทั้งสองมีความใกล้ชิดมากขึ้น และจะช่วยเสริมสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างสองประเทศที่มีมาอย่างยาวนานให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน"

เสด็จประพาส

สิ้นสุดการเยือน

เที่ยงวันของ 23 ก.ค. 2503 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปยังสนามบินเพื่อเสด็จฯ ไปสวิตเซอร์แลนด์ ก่อนการเสด็จพระราชดำเนินเยือนอย่างเป็นการประเทศที่ 3 คือ เยอรมนี

ก่อนการเสด็จเยือนเยอรมนี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชสาส์นเพื่อพระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยเนื่องในโอกาสเสด็จฯ เยือนอังกฤษ เป็นภาษาอังกฤษ แปลเป็นไทยได้ดังนี้

"เราได้เดินทางออกจากประเทศอังกฤษเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมแล้ว และจะไปเยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีในวันที่ 25 กรกฎาคม การเยือนประเทศอังกฤษครั้งนี้ ประสบผลเป็นที่พอใจยิ่ง สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ ดยุคแห่งเอดินบะระ และสมาชิกพระราชวงศ์อื่น ๆ ตลอดจนรัฐบาลอังกฤษ ได้ให้การต้อนรับเราด้วยความกรุณาและเปี่ยมด้วยไมตรีจิตอย่างที่สุด ประชาชนชาวอังกฤษช่างดีเหลือเกินทั้ง ๆ ที่ฝนตกและมีพายุ ได้พากันมาชุมนุมอย่างคับคั่งไม่ว่าเวลาใด เพื่อแสดงความยินดีและต้อนรับพวกเราทุกหนทุกแห่งที่เราผ่านไป เรารู้สึกว่าการไปเยือนประเทศอังกฤษครั้งนี้ทำให้พระราชวงศ์ทั้งสองมีความใกล้ชิดสนิทสนมยิ่งขึ้นเป็นอันมาก และทำให้ประชาชนชาวอังกฤษปัจจุบันนี้รู้จักและมีความสนใจในประเทศเรามากขึ้น ด้วยเหตุนี้ การเยือนปะเทศอังกฤษจึงประสบผลสำเร็จเป็นอันมาก บรรดาคนไทยและนักเรียนไทยจากแหล่งต่าง ๆ ทั่วประเทศอังกฤษได้พากันมาต้อนรับเราเป็นจำนวนมาก พระราชินีและข้าพเจ้า รวมทั้งลูก ๆ สบายดี จิตใจของเรายังคงแนบแน่นอยู่กับท่านทั้งหลายเสมอ และเราหวังว่า ท่านทั้งหลายก็อยู่ด้วยความสุขสบายดีด้วย"

เสด็จประพาส

หมายเหตุ: ที่มาของข้อมูลการเสด็จเยือนสหราชอาณาจักรมาจาก "สมุดภาพที่ระลึก เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี การเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหราชอาณาจักรฯ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ" จัดทำโดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน 2553

line

ภาพบางส่วนจาก "สมุดภาพที่ระลึก เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี การเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหราชอาณาจักรฯ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ" ขอขอบคุณสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน ที่อนุญาตให้บีบีซีไทยนำมาเผยแพร่

เสด็จประพาส
เสด็จประพาส
เสด็จประพาส
เสด็จประพาส
เสด็จประพาส
เสด็จประพาส
line

Let's block ads! (Why?)


July 19, 2020 at 10:24AM
https://ift.tt/32ueyQt

ในหลวง ร. 9: ครบรอบ 60 ปี ของการเสด็จเยือนสหราชอาณาจักร "พระราชกรณียกิจทางการทูตที่สำคัญ" - บีบีซีไทย
https://ift.tt/3e2ph87
Home To Blog

No comments:

Post a Comment